China Travel เมื่อจีนเที่ยวจีนในวันตรุษจีน

By | November 14, 2020

หากตรุษจีนสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนคือการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ (กับเงินแต๊ะเอีย) ตรุษจีนสำหรับคนจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันก็น่าจะหมายถึงเวลาที่ครอบครัวมารวมตัวกัน ซึ่งนั่นหมายถึงการเดินทางราวกับมดแตกรัง

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับไปหาครอบครัว หรือการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกับครอบครัว

ด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น และเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศจีนจึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนจีนไม่เพียงเป็นนักท่องโลกเท่านั้น แต่จำนวนมากกว่านั้นเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศจีนด้วย

©Ling Tang/Unsplash

ความเจริญ ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์: จุดขายยอดนิยม
ด้วยพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร จีนคือที่รวมธรรมชาติที่งดงาม และวัฒนธรรมหลากหลายที่สุดเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น จีนในคริสตศักราช 2019 ยังเป็นที่รวมของความเจริญทางเทคโนโลยี และวัฒนธรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไปไกลกว่าโลก ด้วยเทคโนโลยีที่ไร้รอยต่อและความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมทางโทรศัพท์

สรุปคือ จีนมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เติมเต็มประสบการณ์ในทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจะมองหาอะไร

ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมความเจริญของเมืองเอก (Tier 1) อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว หรือเทียนจิน, การท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมอันแตกต่างอย่างมณฑลเสฉวนและยูนนาน ที่คนจีนด้วยกันยังถือว่าเป็นเสน่ห์น่าค้นหา จนถึงขั้นลึกลับ (คนจีนก็ตื่นเต้นกับการไปเยี่ยมแพนด้าในเมืองเฉินตู และจิบชาในเขตสิบสองปันนา ซึ่งถือว่าเป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติไท) ไปจนถึงการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงอย่าง Red Tourism การท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของจีน อย่างการเยี่ยมชมบ้านเกิดของเหมา เจ๋อตุง ในมณฑลหูหนาน หรือฐานที่มั่นของการเดินทัพทางไกลของพรรคคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1930 ในมณฑลชานซี

แน่นอนว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล ที่ต้องการปลูกฝังค่านิยมคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวจีนรุ่นใหม่ ไม่นับสถานที่ท่องเที่ยวธีมทหาร อย่าง National Defense Park ในเมืองหนานจิง หรือ Binhai Aircraft Carrier Theme Park ในเขตปินไห่ของเมืองเทียนจิน

โครงสร้างพื้นฐานอันไร้เทียมทาน: จุดแข็งที่ยากต่อกร
ด้วยประชากร 1.4 พันล้าน จีนจึงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงตลาดการท่องเที่ยวในประเทศของจีนเองด้วย 

ขณะที่เรามองว่านักท่องเที่ยวจีนคือผู้พกเงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจนอกบ้าน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะอันที่จริง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเปี่ยมศักยภาพของจีน และเป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่จีนประสบปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบสามทศวรรษ อันเป็นผลจากทั้งสงครามการค้าและแรงแผ่วทางเศรษฐกิจของจีนเองหลังจากเติบโตต่อเนื่องยาวนาน

ไม่ต่างจากประเทศไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ออกแคมเปญ Amazing Thailand เพื่อหันมากระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งทำได้รวดเร็วกว่าการกระตุ้นรายรับจากอุตสาหกรรมอื่น

ย้อนหลังไปสักยี่สิบปี เรื่องเล่าว่าด้วยการยืนอัดแน่นบนรถไฟนับสิบ-ยี่สิบชั่วโมงเพื่อเดินทางในประเทศจีน ยังเป็นความท้าทายของทั้งนักท่องเที่ยว และผู้คนชาวจีนที่ต้องกลับบ้านในช่วงตรุษจีน แต่ในปัจจุบันเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และกำลังจะมีความยาวรวมครบ 30,000 กิโลเมตรในปี 2019 ทำให้ความยากลำบากนั้นกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต นี่จึงเป็นจุดแข็งที่สุดของการท่องเที่ยวจีน ที่ทำให้จีนขึ้นชั้นมาเทียบเท่าญี่ปุ่นในเรื่องการคมนาคม และก้าวข้ามคนทั้งโลกไปด้วยกัน

ไม่เพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมสายการบินต้นทุนต่ำที่เคยเป็นชนวนจุดระเบิดให้คนจีนออกเดินทางท่องเที่ยว ยังคงเติบโตต่อเนื่องในเมืองรองชั้นสอง-ชั้นสามด้วยเช่นกัน อะไรจะเป็นตัวกระตุ้นรายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ดีไปกว่าการร่นระยะ-ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีก?

©Aaron Greenwood/Unsplash

ภาษาเป็นเครื่องกีดขวาง บริการยังอ่อนด้อย แต่ระบบขายของออนไลน์ไม่เป็นสองรองใคร
นอกจากภาษาที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ คุณภาพการบริการก็น่าจะเป็นจุดอ่อนเมื่อเทียบกับจุดหมายปลายทางนอกบ้าน เพราะเป็นประเทศที่มีคนมาก สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งของจีนจึงใหญ่โต และเน้นออกแบบระบบการจัดการผู้คนให้มีประสิทธิภาพ หากคำว่าบริการหมายถึงมนุษย์ต่อมนุษย์ จีนคงยังห่างไกลจากไทยในแง่นี้ แต่หากบริการหมายถึงระบบที่ออกแบบให้รองรับการท่องเที่ยวไร้รอยต่อ นั่นอาจเป็นอีกเรื่อง

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agency – OTA) อย่าง Ctrip กันมาบ้าง แต่น้อยคนที่อาจจะรู้ว่า Ctrip นั้นคือธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ที่ไม่เพียงใหญ่ที่สุดในประเทศจีน แต่ยังหายใจรดต้นคอเจ้าใหญ่ในตลาดโลกอย่าง Expedia และ Booking.com มาติดๆ ด้วยอัตราการเติบโตหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี

หลายคนที่เคยไปเที่ยวประเทศจีนหรือฮ่องกงอาจคุ้นเคยกับบริการของ Ctrip (Trip.com) กันดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในประเทศจีน การใช้แอพพลิเคชัน Trip.com นั้นหมายถึงที่พักที่มีตัวเลือกมากกว่ากันเยอะ แน่นอนว่าลูกค้าชาวจีนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศก็ใช้บริการจาก Ctrip ในการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน รถไฟ และซื้อบัตรผ่านประตูสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยเช่นกัน 

การเข้าซื้อธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยกันอย่าง Skyscanner ช่วยขยายฐานลูกค้าอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่นับการร่วมลงทุนในกิจการที่เคยเป็นคู่แข่งอย่าง Tongcheng eLong และการลงทุนในธุรกิจนอกบ้านอย่าง MakeMyTrip ในอินเดีย ไปจนถึงการลงทุนในธุรกิจสายการบินอย่าง China Eastern Airlines นอกเหนือจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Big Bus Tours (ธุรกิจรถบัส Hop-on Hop-off ในหลายเมืองทั่วโลก) 

แต่ความได้เปรียบของ Ctrip ที่เหนือกว่าคู่แข่งจากอเมริกาหรือยุโรปก็คือตลาดนักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองชั้นสาม-ชั้นสี่ อธิบายง่ายๆ ก็คือเมืองที่อาจจะเจริญน้อยกว่าและผู้คนออกมาเที่ยวช้ากว่าชาวบ้าน ซึ่งเป็นตลาดที่จะเห็นการเติบโตอีกมากในอนาคต

สถิติบอกอะไร ใครคือนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก
ยูโรมอนิเตอร์ประมาณการตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศจีนของปี 2018 ไว้ที่ 4,664 ล้านทริป โดยนักท่องเที่ยวในประเทศของจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดยังคงเป็นหนุ่มสาวในวัย 15-24 ปี ที่มักเดินทางเป็นคู่ (รองลงมาคือเดินทางเป็นกลุ่มและเดินทางกับครอบครัว) และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถไฟ (การเดินทางด้วยเครื่องบินยังคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10)

แน่นอนว่าเดือนกุมภาพันธ์ (ตรุษจีน) และเดือนตุลาคม (วันชาติ) คือช่วงเวลาที่ชาวจีนเดินทางมากที่สุด 

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาใช้จ่ายกับวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ มากกว่าสวนสนุก หรืออุทยานทางธรรมชาติ ความสนใจใคร่รู้บวกกับวัฒนธรรมเซลฟีน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี 

หันมามองเมืองที่เต็มไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์อย่างปักกิ่ง ที่จะเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่จะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนด้วยกันอย่างไร หลังจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อสิบปีที่แล้ว

เพราะไม่ว่าจีนจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหรือแม้แต่เวิลด์เอ็กซ์โป กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญกว่าใครก็คือประชากร 1.4 พันล้านบนผืนแผ่นดินจีนนั่นเอง